ประวัติ ของ ทิก เญิ้ต หั่ญ

ทิก เญิ้ต หั่ญ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดกว๋างจิ ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม ท่านมีชื่อเดิมว่า เหงียน ซวน เบ๋า ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดตื่อฮิ้ว เมื่อ พ.ศ. 2485 ขณะมีอายุได้ 16 ปี และได้อุปสมบทเป็นพระในเวลาต่อมา ช่วงแรกที่อยู่ในเวียดนาม ท่านได้พยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนาด้วยการเขียนบทความ แต่กลับได้รับการต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลเป็นอย่างมาก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ท่านได้รับทุนไปศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐ ท่านได้ศึกษาที่นั่นเป็นเวลา 1 ปี แม้จะได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียต่อ แต่ท่านก็ตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนาม เพื่อต่อตั้ง รร.ยุวชนรับใช้สังคม และทำงานด้านความร่วมมือระหว่างพระพุทธศาสนานิกายมหายานและเถรวาทในเวียดนาม ท่านพยายามสอนแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อการรับใช้สังคม เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากสงคราม ท่านพยายามพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอนและเขียนในสถาบันพระพุทธศาสนาชั้นสูง ภารกิจที่สำคัญของท่านคือ ก่อตั้ง "คณะเทียบหิน" ในปี พ.ศ. 2509

ในปี พ.ศ. 2510 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้เสนอชื่อของท่านให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัวอีกที่จะมีคุณค่าพอสำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นอกเหนือไปจากพระผู้มีเมตตาจากเวียดนามผู้นี้"